MO JIRACHAISAKUL INTERVIEW

by The Continuum Team

Proud to be Elite

เราเกิดมาในตระกูลช่าง อากงรับทำตู้ทอง พ่อทำเฟอร์นิเจอร์ คุณอาก็ทำงานศิลปะ เราทำเซรามิก แต่แปลกที่คุณพ่อเป็นคนเกลียดการทำอะไรด้วยมือมาก ๆ เพราะการทำอะไรด้วยมือของคุณพ่อ คือเขาโดนบังคับมาตั้งแต่เด็ก ๆ  แต่เราชอบทำมาก เพราะพ่อไม่เคยบังคับให้เราทำแบบที่พ่อเคยเจอ

ไม่รู้เหมือนกัน ไม่เข้าใจคนที่เกิดมารวย ที่ต้องมาบอกว่าตัวเองลำบาก เรารู้สึกว่าการที่เกิดมามีครอบครัวที่พร้อมเรื่องการเงิน มันเป็น Privilege ที่ทำให้เราเอาเงินนั้นมาสร้างสิ่งใหม่ ๆ มากกว่า การเป็นลูกคนรวย คือเราสามารถลองอะไรได้เยอะกว่าคนอื่น สามารถผิดพลาดได้มากกว่า ล้มได้มากกว่า


ถ้ามีเงินแล้วก็ใช้มันอย่างชาญฉลาดซิ!

เรารู้สึกว่าศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นจากการที่มีคนสนับสนุนเสมอ อย่างกาลิเลโอ ดาวินชี และนั่นต่างหากที่ทำให้เราก้าวข้ามวงจรนี้ออกไปได้  คือการเอาเงินจำนวนมหาศาลมาทำอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกดีกว่า ไม่ต้องถึงกับโลกก็ได้ แค่ในประเทศก็พอ

หลังจากเรียนจบก็เปิดแบรนด์เลย เป็นแบรนด์เซรามิกนี่แหละ แต่เจ๊ง ชื่อแบรนด์ว่ามโน -MNO- ตอนนี้ก็สูญพันธ์ุไปแล้ว ไม่ได้ทำต่อแล้ว ทำแบรนด์มา 1 ปี เราก็รู้สึกว่าต้องเรียนต่อ เพราะตอนที่เรียนที่ ID (Industrial Design) ไม่เชี่ยวชาญอะไรสักอย่างเลย โมเมนต์ก่อนไปเรียนคือ กลัวการทำของที่ทำด้วยมือตัวเองแล้วเอาไปขายด้วยซ้ำ ไม่มั่นใจเลย ขนาดเรายังไม่มั่นใจในของที่เราทำเลย เราจะเอาของไปขายได้ยังไง


RCA นี่แหละ ถูกจริตดี
Royal College of Art (United Kingdom)

ด้วยความที่เราเป็นลูกคนรวยบ้าแบรนด์ บ้าชื่อเสียงคนหนึ่ง หลักสูตรปริญญาโทที่ไหนมันดี มีชื่อเสียง เราก็อยากไปที่นั่นพอไปถึงไม่เหมือนที่คิดเลย เพราะคิดว่าก่อนไปเรียนจะได้แสดงความคิดเห็น ได้ถกเถียงกันทางผลงาน แต่พอไปจริง ๆ แล้วเป็นเหมือนโรงเรียนช่างกลโรงเรียนหนึ่งเลย คุยกันแต่ทางเทคนิคล้วน ๆ

อุปกรณ์ที่ใช้ทำงานที่ RCA กับที่ไทย แทบจะไม่ต่างกันเลย เพราะเป็นความรู้พื้นฐานที่ทำได้อยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าช่าง หรือเทคนิคของไทยดีกว่าที่อื่นด้วยซ้ำไป แต่ RCA เขาประยุกต์เก่ง เหมือนว่าที่ RCA มีเครื่องมือน้อยกว่าเรา แต่เค้าเน้นไปที่วิธีการทำที่ใหม่กว่า ลองเอาอันนั้นผสมอันนี้ มันก็จะได้สิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างชอบมาก เพราะได้ตรงนี้ติดตัวมาเยอะเหมือนกัน พอกลับมาไทยก็ชอบเอาเทคนิคต่าง ๆ มาเล่นกับงานที่เราทำ Improvise ได้เก่งมากขึ้น

— ถ้าคุณอธิบายอะไรให้จบภายใน 5 นาทีไม่ได้ แสดงว่าคุณไม่เข้าใจเรื่องที่จะทำจริง ๆ –

การเรียนที่ RCA ไม่เหมือนที่ไทยเลย เพราะเรียนที่ไทยอาจารย์อยากให้เราพูดเยอะ ๆ ไปค้นคว้าอะไรมา ที่มาเป็นยังไง บอกมาให้หมด

แต่ตอนที่เรียนอยู่ที่ RCA อาจารย์จะให้ไปคิดคอนเซ็ปต์มา 1 อย่าง แล้วให้มาเล่าให้ฟังว่าคุณจะทำอะไรในโปรเจคนี้ ถ้าเกิน 5 นาที เขากดออดเลย ไม่อยากฟังแล้ว มึงจะทำอะไรให้บอกมาเดี๋ยวนี้ ไม่เอาน้ำ เอาแต่เนื้อ ไม่ฟังแล้ว เลยเวลาจิบชาแล้ว

“เราไม่ได้จำกัดชิ้นงานของเรานะ เพราะเราชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับดิน เกี่ยวกับการปั้น การลงมือทำ แต่ก็เป็นคนขี้เบื่อแหละ”

เพราะคิดว่าเป็นคนชุ่ยคนหนึ่ง วันนี้สนใจเรื่องนี้ ก็อยากทำเรื่องนี้ จึงไม่สามารถนิยามตัวเองได้ว่าชอบทำงานสไตล์ไหน หรือ Identity ของเราคืออะไรกันแน่ มันก็เลยเหลือแค่คำตอบเดียว คือชื่อตัวเอง และใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อแบรนด์ตั้งแต่แรก

งานแนว Traditional ก็ไม่ได้ทำตลอด  ต่อให้ทำเราไม่ได้ทำเหมือนแบบต้นฉบับซะทีเดียว เราก็ทำทรงเดิม แต่เพิ่มดีเทลลงไปในงานตลอดเวลา แต่ถ้าทำงานสาย Contemporary ก็จะเละ ๆ หน่อย ไม่มีอะไรมากั้นได้

เคยถามกับเพื่อนชาวต่างชาติเหมือนกัน ว่าช่วยนิยามหน่อยได้ไหม ว่ามองเข้ามาในแบรนด์ เห็นภาพเป็นยังไง ซึ่งเพื่อนก็ตอบไม่ได้ เราเองก็ยังตอบไม่ได้ แต่ถ้าเอาหลาย ๆ แบรนด์มาวางรวมกัน คนที่ติดตามเราก็จะรู้ได้เลยว่านี่แหละ Mo Jirachaisakul  เราเลยรู้สึกว่ามันอยู่ใน Visual Language เป็นภาษาภาพ

— ฉันจะเอา Modern Design ไปโปรดสัตว์ หมู่บ้านนี้จะต้องรุ่งเรือง เพราะสมองอันปราดเปรื่องของฉัน —

เกลียดวิธีคิดแบบนี้มาก!! ตอนแรกที่ทำงาน ก็เป็นเด็กดีไซน์หัวสูงทั่วไปนี่แหละ แต่พอไปถึงหมู่บ้าน…ปรากฏว่าป้าคนทำขับรถหรูกว่าเราอีก คือคนในหมู่บ้านไม่ได้ต้องการทำ Modern Design เลย กลายเป็นว่าเราเองต่างหากที่ต้องกราบขอให้เขาทำงานให้เรา

MO JIRACHAISAKUL – IMPECCABLE BOWL M02
MO JIRACHAISAKUL – IMPECCABLE PLATE M02

*************

Artist / Designer ?

ส่วนตัวคิดว่าถ้าให้เขียนกราฟ เรารู้สึกว่าด้วยตัวตนของตัวเองค่อนไปทางดีไซน์เนอร์มากกว่า เพราะว่าเป็นคนชอบทำตามบรีฟ ชอบทำตามเดทไลน์ เพราะส่วนตัวคิดว่า Artist จะทำงานตามอารมณ์ ไม่มีเดทไลน์ คือเราไม่ใช่คนแบบนั้น

งานที่เราทำมีคนด่ามาเยอะเหมือนกัน…ว่าทำอะไรออกมา เราก็ไม่สนใจหรอก เพราะเป็นคนมั่นหน้าประมาณหนึ่ง จริง ๆ รู้สึกดีเสียอีก ที่มีคนเห็นงานแล้วมีคนด่า การทำงานของเรามันไปกระตุ้นให้คนสนใจได้ ก็ถือว่าอันนี้เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ ดีใจทุกครั้งที่มีคนด่า ด่าได้เลย


ความคิดสร้างสรรค์มักจะมาไม่รู้ตัว

งานที่ยากที่สุด ก็น่าจะเป็นงานกระถางวัดอรุณ เพราะว่ามันใหญ่มาก เพราะเซรามิกที่เราทำมันใหญ่ขึ้น 2 เท่า ยากขึ้น 10 เท่า และด้วยความที่ปกติ คนที่ทำโอ่งใบใหญ่เท่านั้นได้ เขาต้องสะสมสกิลการทำงานแบบนี้มา ต้องเรียนรู้กันรุ่นสู่รุ่น

แต่อย่างเราที่ยังไม่ได้สะสมประสบการณ์มามากขนาดนั้น  มีแค่ผู้ช่วยที่เราเอามาทำโปรเจคนี้ ซึ่งเป็นคนจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของคุณพ่อ สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องคิดเทคนิคที่มาช่วยเด็กรุ่นใหม่ที่มาปั้นงานนี้ให้ได้ สุดท้ายไปได้จาก YouTube นี่แหละ ซึ่งคลิปมัน 10 วินาทีกว่า ๆ แต่เราก็เอามาคิดต่อจนได้เทคนิคมาได้

มันค่อนข้างท้าทายมาก ไหนจะปั้น แล้วเอามาแปะลายต่อ เพราะเราเป็นคนวาดรูปไม่สวย วาดไม่ได้แน่ ๆ ต้องปั้นของ 3D มาแปะ แล้วค่อยแปะลงไปบนกระถาง ซึ่งเชื่อว่าถ้าเอาไปให้โรงงานทำ ก็ทำไม่ได้อยู่ดี

ไม่มีมลทินมัวหมอง

เราได้แรงบันดาลใจมาจากคำ ๆ นี้ เรารู้สึกว่าเป็นไปได้ด้วยหรอ? ที่คนเราจะสามารถลบล้างอดีตของตัวเองไปได้อย่าง 100% คำ ๆ นี้กลายเป็นความสงสัย วนอยู่ในหัวตลอด เราเลยรู้สึกว่าต้องทำ Object อะไรขึ้นมาสักอย่าง

เราก็เลยปั้นชามขึ้นมา 1 ใบ และสร้างตำหนิขึ้นมาอย่างจงใจ เหมือนเราป้ายความผิดให้คนคนหนึ่ง เผาเสร็จมันก็เหมือนตราบาปที่ติดตัว เหมือนความแข็งตัวของดินที่ไม่สามารถกลับรูปเดิมได้แล้ว ลองพยายามลบตำหนินั้นด้วยการเอาสีทองมาป้ายตรงรอยแตกนั้น แล้วดูซิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น!?

ทองที่เห็นมันคือทองแท้ เกิดจากการที่เอาทองไปต้มกับกรด แล้วก็ใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ที่ทำให้เวลาเผาแล้วทองจะไม่ละลายให้ติดรวมกับตัวเซรามิก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตำหนิมันได้หายไปหรือยัง อันนี้มันก็เป็นคำตอบที่เราไม่มีให้ ใครที่ซื้อ หรือใครที่เห็นก็อยากให้ลองคิดเองเอาว่าตำหนิที่เห็น มันหายไปหรือยัง ?

“สิ่งที่ผมทำอยู่ มันก็เหมือนเป็นเหมือนคินเซ็นกิแบบทุเรศ แบบหน้าด้าน เป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งในการทำของ Exclusive เหมือนกัน”

MO JIRACHAISAKUL – IMPECCABLE PLATE M01
MO JIRACHAISAKUL – IMPECCABLE BOWL S

THE CONTINUUM

ไม่สามารถตอบได้เลยว่าจะรุ่งหรือจะเจ๊ง มันจะมีคนซื้อจริง ๆ หรอ? แต่การมี Platform อย่าง CONTINUUM มันก็เป็นสัญญาณที่ดี พอเราเห็นว่ามันมีอะไรแบบนี้ เราก็จะไม่เบื่อ แต่จากที่ดูก็คิดได้คำเดียว เราอยากเอาของมาขายในนี้ มันบ้าดี อะไรก็ไม่รู้


เย้ มีไฟแล้ว

ถ้าไม่ได้ทำงานเซรามิก ก็คงจะทำงานแก้ว ซึ่งมันเหมือนกระจกสะท้อนของงานเซรามิก เพราะเซรามิก เราจับตัวชิ้นงานโดยตรงกับมือของเราเอง ปั้นแล้วเอาไปเผา ให้ความร้อนกับมัน ถึงจะได้ผลงานออกมา

ในขณะที่แก้ว เราต้องเอาไปให้ความร้อนก่อน แล้วค่อยมาเป่าตามรูปที่อยากได้ แล้วถึงจะได้ผลงานออกมา แต่ที่เหมือนกันคือ การหมุน แต่แค่หมุนคนละทิศทาง เซรามิกหมุนแนวนอน แก้วหมุนแนวตั้ง

— เราเป็นคนแปลกอย่างหนึ่งเป็นคนที่ชอบเห็นไฟ ชอบการจุดไฟ ชอบเห็นของร้อน ๆ  พอเห็นแล้วจะรู้สึกว่าแฮปปี้ โมเม้นต์ที่ชอบมาก ๆ คือเวลาจุดไฟเตาแก๊ส มันพึ่บ ๆ สนุกดี —






other story

BAAN BOON INTERVIEW

แบรนด์ไม้กวาดข้าวฟ่าง จากธุรกิจครอบครัวที่ส่งออกไม้กว่ามากกว่า 34 ปี ถูกรื้อ คัดและสร้างใหม่โดยลูก ๆ ด้วยเหตุที่ว่า... ทำไมไม้กวาดที่เราจับทุกวันต้องซ่อนตัวอยู่ในมุมบ้าน?!

Explore

THANIYA1988 INTERVIEW

THANIYA1988 ชื่อแบรนด์ที่ตั้งจากชื่อจริงและปีเกิดของคุณแมทช์ "ฐาณิญา เจนธุระกิจ" เจ้าของแบรนด์เครื่องหอมและของตกแต่งบ้านจากเซรามิก

Explore

Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping