Outsider art ศิลปินนอกคอกในประวัติศาสตร์ศิลปะ

by ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเร็วๆ นี้เรามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับศิลปินชาวไทยผู้ทำงานในสไตล์ป๊อปอาร์ต ที่หยิบเอาคาแรคเตอร์ที่หลายคนรู้จักคุ้นตาจากวัฒนธรรมป๊อปอย่างตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์, โดนัลด์ดั๊ก, คิงคอง ไปจนถึงอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพหรือแบรนด์สินค้ายอดนิยมต่างๆ มาดัดแปลงให้กลายเป็นคาแรคเตอร์อันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมๆ กับการบิดผันชื่อของคาแรคเตอร์เหล่านั้นให้กลายเป็นถ้อยคำเสียดสียียวน วิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างแสบสัน ในผลงานศิลปะของเขา ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

“ลักษณ์ ใหม่สาลี”

ลักษณ์ ยังท้าทายคนในวงการศิลปะที่มักจะยึดมั่นในอุดมคติของการทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ (Art for art’s sake) และรังเกียจการค้าการขาย หรืองานศิลปะในเชิงพาณิชย์ด้วยการแปะป้ายเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งในผลงานของเขาว่า “Make Art For Money” (ทำงานศิลปะเพื่อเงิน) ที่เสียดสีทั้งวงการศิลปะและตัวเองไปพร้อมๆ กัน ในครานี้ลักษณ์มากับผลิตภัณฑ์ศิลปะเปี่ยมสไตล์ยียวนกวนโอ้ยชุดใหม่ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์

“Outsider art” หรือ “ศิลปะนอกคอก”

เราเลยถือโอกาสนำเสนอเรื่องราวของเหล่าบรรดาศิลปินนอกคอกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการโหมโรงให้ผลงานชุดใหม่ของเขากัน

เริ่มต้นกันด้วยเรื่องราวของนิทรรศการหนึ่งที่ถูกจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1667 ที่มีชื่อว่า

“Salon des Refusés” หรือ“นิทรรศการของพวกถูกคัดทิ้ง”

ที่มีชื่อเช่นนี้ก็เพราะนิทรรศการนี้แสดงผลงานศิลปะของศิลปินที่ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการของซาลง (Salon) หรือนิทรรศการแสดงศิลปะในกรุงปารีสที่สนับสนุนโดยรัฐบาลและสถาบันศิลปะของฝรั่งเศส เนื่องจากซาลงเป็นนิทรรศการสาธารณะเพียงงานเดียว ที่ผู้ชนะจะได้รับการว่าจ้างงานจากรัฐบาล รวมไปถึงเศรษฐีมีทรัพย์

Salon de Refusés

รางวัลจากซาลงจึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในอาชีพศิลปิน จนทำให้เกิดการแข่งขันดุเดือด ที่นี้ศิลปินที่ถูกปฏิเสธหรือคัดออกเพราะงานหลุดจากกรอบ ไม่เข้าพวก ดูอุจาดหรืออัปลักษณ์ในสายตาของคณะกรรมการเหล่านั้นจึงเกิดความไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วงจนความไปถึงหูจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี 1863 พระองค์จึงดำริให้นำงานที่ถูกคัดทิ้งเหล่านั้น ไปจัดแสดงขึ้นในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้ชาวปารีเซียงเป็นคนตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยตนเองซึ่งแน่นอนว่าเป็นโอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถเหยียดหยามและเย้ยหยันงานศิลปะที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “ศิลปะชั้นเลว” หรือ“อัปลักษณ์ศิลป์” ได้อย่างเต็มที่

The Luncheon on the Grass (1862-1863) – Édouard Manet

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นในนิทรรศการในครั้งนั้น (นับได้จากเสียงเย้ยหยันที่ได้รับมากกว่าผลงาน ชิ้นอื่น ๆ) นั้นได้แก่ผลงานที่มีชื่อว่า Le déjeuner sur l’herbe (1862-1863) หรือ The Luncheon on the Grass (มื้อกลางวันบนสนามหญ้า) โดย เอดูอาร์มาเนต์ (Édouard Manet) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่ถือได้ว่าเป็นภาพวาดที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งที่วงการศิลปะ ภาพการปิกนิกอันแปลกประหลาดที่มีชายชนชั้นกลางแต่งตัวเต็มยศใส่เสื้อนอกผูกไท นั่งเอกขเนกอยู่กับหญิงสาวร่างเปลือยเปล่าบนพื้นหญ้าในสวนสาธารณะ ไกลออกไปเป็นหญิงสาวกำลังซักชุดชั้นในอยู่ในทะเลสาบ

เมื่อภาพนี้ถูกแสดงในนิทรรศการ สิ่งที่ได้รับคือเสียงหัวเราะเย้ยหยันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะมันเป็นภาพเปลือย เพราะก่อนหน้านั้นก็มีการวาดภาพเปลือยมาแล้วมากมาย หากแต่ภาพเปลือยเหล่านั้นก็เป็นภาพของเทวีเทพธิดาในนิยายปรัมปรา หรือนางในตำนานเทพปกรณัม แต่ภาพของมาเนต์กลับเป็นภาพเปลือยของคนธรรมดาทั่วๆไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคนั้นรับไม่ได้หนำซ้ำหญิงสาวในภาพนั้นก็ไม่ใช่แค่คนธรรมดาทั่วไปเท่านั้น หากแต่เป็นโสเภณีที่ชาวปารีสต่างก็รู้กันดีว่าทำมาหากินอยู่ในสวนสาธารณะ Bois de Boulogne อันเป็นฉากหลังที่เห็นอยู่ในภาพ ซึ่งถือเป็นการตบหน้าชาวปารีสฉาดใหญ่ เพราะถึงจะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้ๆ กัน

Édouard Manet

ภาพนี้สร้างความตื่นตระหนกต่อสาธารณชนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยการจับผู้หญิงเปลือยเปล่าท่าทีเย้ายวนกามารมณ์ให้มานั่งอยู่กับชายหนุ่มที่ใส่เสื้อผ้าเต็มยศที่มีท่าทีและอากัปกิริยาปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างและขัดแย้งอย่างสุดขั้วและพิลึกพิลั่นอย่างที่ไม่เคยมีใครในยุคนั้นกล้าทำมาก่อน สิ่งที่ทำให้ผู้ชมอึดอัดอีกอย่างก็คือ สายตาของหญิงสาวในภาพที่จับจ้องมายังพวกเขาโดยไม่ยี่หระต่อร่างกายอันเปล่าเปลือยไร้อาภรณ์ของตัวเองแม้แต่น้อย

แต่ก็เป็นเรื่องต้องห้ามไม่มีใครกล้าเอามาพูดในที่สาธารณะแบบนี้มาก่อน ยิ่งเอามาวาดเป็นภาพแสดงในนิทรรศการแบบนี้ยิ่งแล้วใหญ่ ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกชาวปารีสรุมโห่ฮาป่าและหัวเราะเย้ยหยันอย่างรุนแรง ทั้งที่ความจริงแล้วคนดูเหล่านั้นกำลังหัวเราะเย้ยหยันตัวเองมากกว่า

ถึงแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น แต่แนวคิดในการดึงเอางานจิตรกรรม ซึ่งเคยเป็นของสูงจนต้องปีนกระไดดูให้ลดตัวลงมาบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของคนทั่วไปหรือแม้กระทั่งคนชายขอบที่สังคมไม่ยอมรับ ทำให้ทุกวันนี้ภาพวาดของจิตรกรผู้นี้ได้รับการยอมรับและยกย่องในฐานะผลงานที่ปฏิวัติและล้มล้างค่านิยมและความเชื่อเก่าๆของศิลปะและเป็นต้นธารที่นำไปสู่การถือกำเนิดของ “Modern Art” หรือ ศิลปะสมัยใหม่ ในที่สุด เมื่อนั้น ภาพวาดที่ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยในตอนแรก ก็กลับได้รับความนิยมชมชอบและเป็นที่สนอกสนใจในหมู่สาธารณชน และกลายเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นรวมถึงพลิกค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมในยุคต่อมาและส่งผลมาจวบจนถึงปัจจุบัน

STARRY NIGHT (1889) – Vincent van Gogh

วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh)

จิตรกรแสนอาภัพผู้เป็นตำนานในโลกศิลปะ เขาเป็นจิตรกรชาวดัตช์ในยุคหลังอิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionism) ผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะสมัยใหม่แห่งโลกตะวันตก ตลอดชีวิตการทำงานแวน โก๊ะห์ดิ้นรนที่จะถ่ายทอดสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณลงในผลงานแต่ละชิ้นของเขาอย่างเต็มเปี่ยม ภาพวาดของเขาเต็มไปด้วยฝีแปรงอันหนักหน่วง รุนแรง การใช้สีสันได้อย่างกล้าหาญ สว่างสดใสเจิดจ้า เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา ถ่ายทอดความรู้สึกที่เขามีต่อสิ่งที่พบเห็นอย่างซื่อตรงแสดงออกถึงความเป็นจริงอันลึกซึ้งกว่าสิ่งที่ตามองเห็น

แต่ในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้กลับส่งผลให้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่เขาประสบความล้มเหลวด้านรายได้ในอาชีพศิลปิน และมีชีวิตอยู่ด้วยความลำบากยากจน ตลอดชีวิตเขาขายภาพวาดได้เพียงภาพเดียวเท่านั้น ด้วยความที่ผลงานของเขานั้นแปลกใหม่ล้ำหน้าและเป็นอะไรที่มาก่อนกาลเอามากๆ แต่ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต ผลงานที่ไม่เคยมีใครแยแส กลับกลายเป็นศิลปะอันล้ำค่าราคาพุ่งพรวดจนกลายเป็นภาพวาดที่มีราคาแพงที่สุดในโลก บางภาพมีราคาสูงกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สไตล์การทำงานของเขายังส่งอิทธิพลต่อศิลปินและกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่างมากมายนับไม่ถ้วนนับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 จวบจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น

“บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่”

เช่นเดียวกับศิลปินอย่าง อเมเดโอ โมดิกลิอานี (Amedeo Modigliani) จิตรกร/ประติมากรชาวยิวเชื้อสายอิตาเลียน ผู้อาศัยและทำงานในฝรั่งเศส โมดิกลิอานีเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดพอร์ทเทรตและภาพเปลือย อันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสัดส่วนของนางแบบในภาพมักจะมีลักษณะยืดยาวกว่าปกติและใบหน้ามักจะมีลักษณะคล้ายกับสวมหน้ากาก ดูแบนไร้มิติแต่ก็แสดงออกถึงความเป็นนามธรรมอยู่ภายใน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะแอฟริกัน ผลงานของเขาไม่เหมือนกับผลงานของศิลปินคนใดในยุคนั้น และยากต่อการจำแนกจัดแจงว่าอยู่ในศิลปะประเภทไหน แม้กระทั่งในสมัยนี้ก็ตามทีภาพเปลือยของโมดิกลิอานียังสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ชม นักวิจารณ์และศิลปินด้วยกัน ในยุคนั้นอย่างมาก ด้วยความที่นางแบบในภาพของเขามักจะโพสท่าอย่างจะแจ้ง ยั่วยวน และมักจะแสดงให้เห็นถึงขนรักแร้และขนในที่ลับอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกทางเพศอย่างไม่มิดเม้ม

Portrait of Lunia Czechowska (1919) – Amedeo Modigliani

ด้วยความที่ภาพวาดของโมดิกลิอานีมีแนวทางที่แปลกแตกต่างไปจากงานศิลปะยุคสมัยนั้น อีกทั้งยังมีความเป็นขบถท้าทายต่อขนบธรรมเนียมของสังคม ทำให้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเขาจึงไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก เขาเป็นตัวอย่างอันชัดเจนของศิลปินที่มีชีวิตอดอยากแร้นแค้นจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตจนเป็นที่กล่าวขานเป็นตำนาน เช่นเดียวกับศิลปินผู้อาภัพอย่างแวน โก๊ะห์บางครั้งในคราวอดอยากยากไร้เขาถึงกับต้องเอาภาพวาดของเขาไปขอแลกกับอาหารจากภัตตาคารเพื่อประทังชีวิตด้วยซ้ำ

น่าขันขื่นตรงที่ภายหลังจากที่โมดิกลิอานีเสียชีวิต ผลงานของเขากลับเป็นที่นิยมอย่างมหาศาลและขายได้ในราคาสูงลิบลิ่ว ภาพวาดบางภาพของเขาถูกประมูลไปในราคา 170.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเขาเองก็ถูกจารึกชื่อให้เป็นศิลปินคนสำคัญที่เปี่ยมแรงบันดาลใจที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) และกลายเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของเขาเช่นเดียวกัน

Henri Rousseau : The Dream (1910)

ความนอกคอกด้วยการละทิ้งความถูกต้องของทักษะในการทำงานศิลปะเคยเล่าเรียนมาของลักษณ์ยังไปพ้องกับเรื่องราวของศิลปินอีกคนในประวัติศาสตร์ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า อ็องรี รูโซ (Henri Rousseau) จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้ไม่เคยร่ำเรียนศิลปะในสถาบันไหนเลย รูโซเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดป่าดงดิบอันเขียวชอุ่ม ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่เคยเข้าป่าจริงๆ ที่ไหนเลย (เอาจริงๆ ตลอดชีวิต เขาไม่เคยออกจากประเทศฝรั่งเศสเลยแม้แต่ครั้งเดียวด้วยซ้ำ) แต่เขามักไปเยี่ยมเยือนสวนสาธารณะอุทยาน และสวนสัตว์ในปารีสอยู่บ่อย ๆ ศิลปินผู้เป็นแบบอย่างของศิลปะแนว…

Le Passé et le présent, ou Pensée philosophique (1899)

นาอีฟ (Naïve art) หรือ ศิลปะไร้เดียงสา

La Encantadora de Serpientes (1976)

รูโซผู้นี้ฝึกฝนการวาดภาพด้วยตัวเองและพัฒนาสไตล์ที่แสดงออกถึงการขาดไร้การฝึกฝนการวาดภาพตามขนบอย่างชัดแจ้งออกมา ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ผิดเพี้ยน ทัศนียภาพแบบจุดเดียวและการใช้สีสันอันจัดจ้านและไม่เป็นธรรมชาติในการวาดภาพ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวก็ส่งผลให้งานของเขาเต็มไปด้วยความรู้สึกอันลึกลับและแปลกประหลาดพิสดาร

ผลงานของรูโซมักถูกหัวเราะเยาะเย้ยโดยผู้คนที่เห็นงานของในครั้งแรกๆ สื่อมวลชนชาวปารีสบางคนถึงกับเขียนวิจารณ์งานของเขาว่า “เมอซีเยอรูโซน่าจะหลับตาแล้วใช้ตีนของเขาวาดภาพ”แต่ในขณะเดียวกัน ภาพวาดของเขาก็ไปเตะตาศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ปิกัสโซรวมถึงเป็นที่ชื่นชมของศิลปินศิลปินอาว็อง-การ์ด (Avant-garde) หรือศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่างจอร์ฌบรัก (Georges Braque), กีโยม อาปอลีแนร์ (Guillaume Apollinaire) และ โรแบรต์เดอโลเน (Robert Delaunay) ถึงแม้จะได้รับความนิยมชมชอบในหมู่มิตรสหายศิลปิน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้รูโซหลุดพ้นจากการถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นตัวตลกในโลกศิลปะอยู่ดีและเขาเองก็ยังคงมีชีวิตอย่างยากไร้ขัดสนจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

แต่ถึงแม้ในยามมีชีวิตเขาจะถูกเย้ยหยันจากเหล่าบรรดานักวิจารณ์และไม่ประสบความสำเร็จตลอดอาชีพการทำงาน แต่ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต รูโซกลับเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินอัจฉริยะผู้ฝึกฝนการวาดภาพด้วยตัวเอง ผลงานของเขากลับได้รับความนิยมอย่างสูงและส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินหัวก้าวหน้าและศิลปินรุ่นหลังมาหลายยุคสมัย

Marcel Duchamp

ความยียวนกวนโอ้ยในผลงานของ ลักษณ์ใหม่สาลี ยังทำให้เรานึกไปถึงศิลปินนอกคอกผู้โด่งดังที่สุดอีกคนในวงการศิลปะ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นผู้คิดค้นศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า “readymades” ซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุและข้าวของธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ โดยมีผลงานที่โด่งดังที่สุดอย่าง Fountain (1917) ซึ่งเป็น โถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวธรรมดา ๆ ที่หาซื้อได้ตามร้านขายสุขภัณฑ์เอามาวางหงายบนแท่นโชว์

เดิมทีดูชองป์ส่งผลงานชิ้นนี้เข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) ซึ่งประกาศว่า “รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด” โดยเขาสวมรอยใช้ชื่อปลอมในการส่งงาน และเซ็นชื่อบนโถฉี่ใบดังกล่าวว่า “R. Mutt” ผลลัพธ์ก็คือ มันถูกปฏิเสธไม่ให้ร่วมแสดงในนิทรรศการอย่างไร้เยื่อใย ทั้งๆ ที่ดูชองป์เองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยซ้ำไป! เป็นเหตุให้ดูชองป์ลาออกจากการเป็นคณะกรรมการเพื่อแสดงการประท้วง “ก็ไหนบอกว่ารับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัดไงวะ!” ดูชอมป์คงบ่นในใจ

 “Bicycle Wheel (1913) on the cover of Calvin Tomkins’s first book on Marcel Duchamp in 1966

แต่กลายเป็นว่า โถฉี่ที่ถูกปฏิเสธชิ้นนี้กลับได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากกว่าตัวนิทรรศการเสียอีก การกระทำเช่นนี้ของดูชองป์นอกจากจะเป็นการยียวนกรรมการของสมาคมและสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติอย่างเจ็บแสบแล้ว ยังตอกหน้าวงการศิลปะยุคนั้นอย่างแรง ด้วยการแสดงให้เห็นว่าศิลปินไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่และศิลปะไม่ใช่ของวิเศษล้ำค่าอะไร ก็แค่ของโหลๆ ที่ใครก็ซื้อหาได้จากร้านขายสุขภัณฑ์ดูชองป์ใช้วัตถุที่ดูต่ำต้อยด้อยค่าที่ใช้รองรับสิ่งปฏิกูลอย่างโถฉี่ใบนี้ท้าทายกรอบคิดและขนบอันคร่ำครึของวงการศิลปะ ทำลายคุณค่าและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะ ที่เคยเป็นของสูงส่งเลอค่าซึ่งสงวนไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชนในสังคม และดึงมันให้ลงมาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของสามัญชนคนธรรมดาๆในที่สุด ซึ่งแนวคิดของดูชองป์เช่นนี้นี่เองที่กลายเป็นรากฐานของงานศิลปะร่วมสมัยนับไม่ถ้วนในปัจจุบัน

ท้ายที่สุด การที่ศิลปินอย่างลักษณ์หยิบเอาคาแรคเตอร์และแบรนด์สินค้าอันโด่งดังจากวัฒนธรรมป๊อปมาทำงาน รวมถึงคติพจน์ที่แปะป้ายในผลงานของเขาอย่าง “Make Art For Money” ทำให้เรานึกไปถึงศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคหลังศตวรรษที่ 20 ฉายา “เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต”อย่างแอนดี้วอร์ฮอล (Andy Warhol) ที่นอกจากจะหยิบเอาคาแรคเตอร์และแบรนด์สินค้าอันโด่งดังในวัฒนธรรมป๊อป มาทำเป็นงานศิลปะได้อย่างเฉิดฉาย เซ็กซี่และเปี่ยมเสน่ห์อย่างยากจะหาใครเสมอเหมือนแล้ว เขายังเป็นศิลปินไม่กี่คนที่ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าเขารักและลุ่มหลง “เงิน” เป็นชีวิตจิตใจจนถึงขนาดทำงานศิลปะในรูปธนบัตรและสัญลักษณ์ดอลลาร์ออกมาเลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้นวอร์ฮอลยังเป็นศิลปินที่ไม่เคยกระดากอายในการทำงานในเชิงพาณิชย์หรือทำการค้าและทำธุรกิจในนามของศิลปะอย่างครื้นเครงจนเรียกได้ว่าเขาเป็นศิลปินที่มีหัวการค้าที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ เขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“Being good in business is the most fascinating kind of art. Making money is art and working is art and good business is the best art.”

(การประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นงานศิลปะที่น่าหลงใหลที่สุด, การทำเงินเป็นศิลปะและการทำงานเป็นศิลปะและธุรกิจที่รุ่งเรืองก็เป็นงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมที่สุด)

(ราวกับวอร์ฮอลจะได้บทเรียนจากศิลปินรุ่นพี่อย่างแวน โก๊ะห์และโมดิกลิอานีว่า ให้รีบรวยตอนยังมีชีวิตอยู่อย่ารอให้ตายเสียก่อนแล้วค่อยให้คนอื่นชุบมือเปิบทีหลัง!)

ด้วยเหตุนี้วอร์ฮอลจึงเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของเขา ในยามที่เสียชีวิต เขามีทรัพย์สินถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การที่ศิลปินเหล่านี้จะไม่ได้รับการยอมรับในยุคสมัยของตนเอง ไม่ได้หมายความผลงานของพวกเขาไร้คุณภาพหรือด้อยค่า หากแต่เป็นเพราะผลงานของพวกเขาล้ำหน้าและมาก่อนกาลเกินกว่าที่คนในยุคสมัยเดียวกันจะเข้าใจอันที่จริงควรกล่าวได้ว่าศิลปินเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปินผู้หาญกล้า ท้าทาย ผู้ไม่ยอมอุดอู้อยู่ในคอกที่เรียกว่า “ยุคสมัย” ต่างหาก

อ้างอิง

หนังสือ Van Gogh. Life and Art

หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุบุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์แซลมอน

หนังสือ ANDY WARHOL โดย Isabel Kuhl

https://en.wikipedia.org/wiki/Le_D%C3%A9jeuner_sur_l%27herbe

https://www.theartstory.org/artist/van-gogh-vincent/

https://vincentvangogh.org/

https://www.theartstory.org/artist/modigliani-amedeo/

https://www.theartstory.org/movement/pop-art/




other story

Sex & Design

ถ้าเห็นใครทำเป็นรังเกียจเซ็กส์และเห็นว่าเป็นเรื่องต่ำๆ ก็เตือนให้สำเหนียกเอาไว้บ้างก็ดี ว่าทั้งเธอและฉันก็เกิดมาเพราะมันนั่นแหละ

Explore

deja-FLU

โควิด-19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกสักพักจนกว่าจะมีวัคซีนออกมา แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ได้พรากความเชื่อของเราออกไปเช่นกัน

Explore

Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping