Luck-Surely — Make Art for Money

by Saran Yen Panya

“ชีวิตนี้ผมไม่เคยทำงานประจำ ไม่เคยสมัครงาน
ผมยังไม่รู้เลยว่าไอ้ใบ Transcript พวกนี้อยู่ไหน ผมไม่ได้รับปริญญาด้วยนะ — แต่แวะไปงานนะ — แวะไปดริ้งค์”





ไม่ว่ากระแสการไม่รับปริญญา ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2020 นี้ มันจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดก็ตาม สำหรับศิลปินอย่าง คุณลักษณ์ ใหม่สาลี ผู้ที่ใช้งานศิลปะ ป๊อปอาร์ต และการ์ตูน เป็นเครื่องมือในการวิพากย์วิจารณ์ สังคมทุนนิยม ที่พวกเราทุกคนคุ้นเคยนั้น — คำตอบน่าจะเป็น —

“เรื่องของตู!”

The Continuum เข้าไป พูดคุย บุกบ้านและสตูดิโอทำงานศิลปะในย่านนนทบุรีของ คุณลักษณ์ ใหม่สาลี ศิลปินไทยมากฝีมือ ที่คำว่า “อินดี้” ยังไม่น่าจะใช้อธิบายบุคลิกและสไตล์การทำงานของเขาได้อย่างเป็นธรรมและเที่ยงตรงนัก

ในช่วงเวลาที่ เงินตรา นั้นหายาก ในยุคของโควิดนั้น งานศิลปะ ที่หลายคนมองเป็นของฟุ่มเฟือย จะมีบทบาทอย่างไรกับลัทธิบริโภคนิยมในโลกทุนนิยม บทความนี้ จะพาท่าน ไปช่วยกันหาคำตอบร่วมกัน



“ลักษณ์แท้ ต้องแพ้เงิน”
Luck-Surely — Make Art for Money

ประโยคข้างบน คือสิ่งที่เป็นคาถาสำคัญ ในการกำหนดทิศทาง งานศิลปะของคุณลักษณ์มาตลอดหลายสิบปีในวงการศิลปะของไทย

พาณิชย์ศิลป์ มีคุณค่ามากเท่ากับ วิจิตรศิลป์หรือไม่? แล้วทำไม ศิลปินถึงไม่ยอมรับว่า ผลงานของพวกเค้านั้น ท้ายที่สุด ณ จุดหนึ่ง ก็หนีไม่พ้นโจทย์ของการ “ทำเงิน” เพื่อหล่อเลี้ยงอาชีพและจิตวิญญาณด้วยกันทั้งสิ้น

คำถามที่ คุณลักษณ์ ตั้งขึ้นเพื่อแซะตัวเอง และอาจจะแซะทั้งคนซื้องานศิลปะ ศิลปิน แซะมั่วไปทั่วทั้งวงการ ผ่านลายเส้นตัวการ์ตูนหรือป๊อปไอคอนทั้งหลาย ที่หากเราจ้องมองลึกเข้าไปในดวงตาของมัน

— เราจะเห็นว่า พวกมันนั้นแสนจะ “หน้าเงิน”

มุรากามันนี่ย์
Muraka
– Money

“ผมก็คือมนุษย์โง่ๆคนหนึ่ง ” ทากาชิ มุราคามิ กล่าวไว้

ท่ามกลางกระแสฮือฮา ของข่าวการล้มละลายของ มุรากามิ ศิลปินญี่ปุ่นระดับเทพแห่งเทพ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก และได้ Collab กับแบรนด์ระดับโลกมานับไม่ถ้วน เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่า ศิลปะ และ คุณค่าของมันอาจจะไม่สามารถตั้งอยู่โดยเอกเทศภาย ใต้ระบบทุนนิยมได้ — หรือถ้าศิลปะอยู่ได้ แล้วศิลปินล่ะ จะอยู่โดยไม่มี เงิน ได้หรือไม่? แล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน?

มันนี่เม้าส์ ปิแคชโซ่ ดอลล่าร์ดั๊ก คิงรวย ริชลิน มันนี่เดอะพัวร์ คิลพัวร์ — เหล่าคาแรคเตอร์กวนส้น ที่คุณลักษณ์ หยิบยืม มาจาก ตัวการ์ตูนจากวัฒนธรรมป๊อป ตะวันตกมากมาย แต่ผ่านลายเส้นและการบิดเบือน ที่ดิบกร้านกว่า และการใส่ ดวงตาหน้าเงินให้พวกมัน — อาจจะทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้เราตั้งคำถาม กับสิ่งที่พวกเราเลือกเสพย์ในวัฒนธรรมร่วมสมัยในโลกที่เกือบทุกอย่าง หมุนไปด้วยเงิน

แม้แต่ การ์ตูน น่ารัก ไร้เดียงสาที่พวกเราสนิทสนมคุ้นเคยมาตั้งแต่วัยเยาว์นั้น — กลไกของมัน ก็ยังถูกสร้างขึ้นเพื่อ “ทำเงิน” ล้วนๆในท้ายที่สุด


One More Thing – Madamn Bag : Dollar Duck


ค่ายหนังการ์ตูนระดับตำนาน วอล์ท ดิสนีย์เองนั้น ครั้งหนึ่ง ก็หวุดหวิด ผ่านการล้มละลายมาแล้ว ซึ่งถ้าหากไม่ได้การแก้โจทย์ในเชิงพาณิชย์ ในยุค Disney Renaissance ที่ตัวละครทุกตัว ล้วนออกมาร้องเล่น เต้นระบำ ร้องเพลง ราวกับอยู่บนเวทีบรอดเวย์แล้ว บริษัทระดับยักษ์อย่าง Disney ก็อาจจะไม่ผงาดก้าวไกลมาจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้ “เงิน เงิน เงิน”

จึงมีความสัมพันธ์กับงานศิลปะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าศิลปินหลายคนจะพยายามหลีกเลี่ยง และไม่กล้าเอ่ยปากยอมรับโต้ง ๆ และแปรเปลี่ยนมันออกมาให้กลายเป็นงานศิลปะเชิงวิพากย์ เสียดสี แบบคุณลักษณ์ ใหม่สาลีก็ตาม

“อยู่นอกสายตา ของเธอตั้งไกล”
Outsider Art

ท่ามกลางของสะสมมากมาย อย่างป้ายโฆษณาเก่า กระสอบทหารเก่า ตุ๊กตาหน้าตาแปลกนับร้อยตัว รวมถึงเฟอร์นิเจอร์สไตล์อินดัสเทรียลเกรอะกรัง ในสตูดิโอศิลปะที่นนทบุรีของคุณลักษณ์ ใหม่สาลี ผู้ซึ่งนิยามอ้างถึงศิลปะแบบ Outsider Art ไว้ว่า “มันยากมากๆ” เพราะมันหมายถึงการโยนสกิล หรือทักษะต่างๆที่พร่ำสอน โดยสถาบันศิลปะทั้งหลาย ออกทิ้งนอกหน้าต่างไปให้หมด

การ์ตูนทั้งหมดที่ปรากฎอยู่บนผืนผ้าใบของคุณลักษณ์ เปรียบเสมือน “ยาขม” เพราะตัวเขาเองนั้น ไม่ได้ชอบวาดการ์ตูน แต่เขาตัดสินใจที่จะวาดมันขึ้นมาจากความทรงจำ มากกว่าที่จะพยายามให้ตัวการ์ตูนเหล่านั้น มันถูกต้องตามแบบที่มันเคยเป็น หรือ ควรจะเป็น

โดยปกติแล้ว คำว่า Outsider Art นั้น จะใช้นิยามผลงานศิลปะ ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย คนนอก — ในที่นี้คืออยู่นอกระบบศิลปะ ทั้งในเชิง ทักษะ มุมมอง และประสบการณ์ หลายครั้งก็ถูกเรียกว่า Naïve Art หรือ Low Art ซึ่งความน่าสนใจของ รูปแบบงานศิลปะแบบคนนอกนี้ คือมันไม่มีแบบแผน และแน่นอนว่า ทักษะ หรือแม้กระทั่ง ความสวยงามตามขนบทั่วไป ไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดคุณค่าของมันได้



หากวันนี้ คุณเดินผ่าน ตู้ไฟ หรือ เสาตอม่อ ใต้ทางด่วน แล้วสังเกตุเห็น ลายเส้นยุกยิก ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรย่อมากมาย เขียนทับไว้บนพื้นผิวสาธารณะ ราวกับแผนที่ —  นั่นก็อาจจะนับเป็น ศิลปะของคนนอก หรือ Outsider Art อีกชนิดหนึ่งเช่นกัน

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ แล้ว Insider Art ล่ะ คืออะไร? ใครคือ คนใน ระบบศิลปะที่ถูกอุ้มชูด้วยระบบทุนนิยม และคุณค่าของ Insider Art นั้น มันอยู่ที่อะไร?

“อาจารย์ผมเค้าก็บอกว่า ผมไม่มีทางเป็น Outsider ได้”
— คุณลักษณ์กล่าวไว้

แล้วอะไรเป็นเส้นแบ่ง ระหว่าง “คนนอก” และ “คนใน” กันแน่?


ร่องรอยของการลบ ที่ถูกทอ ล้อเลียน ขึ้นมาใหม่
Weaving the Trace of the Past

ศิลปินไทยอย่าง คุณลักษณ์ ใหม่สาลี ครั้งหนึ่งนั้น ก็เคยพักงานศิลปะ แล้วผันตัวไปเป็นพ่อค้าของวินเทจในจตุจักร อยู่พักใหญ่ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม

ร่องรอยของความรักในของโบราณ และงานวินเทจ ยังฝังตัวอยู่ในรูปแบบงานศิลปะของคุณลักษณ์ อย่างครบถ้วน เพราะหลายครั้งที่ตัวของเขาเอง หยิบเอาผ้าเก่า หรือข้าวของวินเทจ มารื้อ เพนท์ทับ ทำให้มีร่องรอยของอดีต ก่อนที่จะวาดลายการ์ตูนป๊อป ๆ สีสันสดใส ทับลงไป

การเข้ามาร่วมงานเพื่อสร้างสรรค์ ผ้าทอ ลายพิเศษ กับแบรนด์สิ่งทอกวนส้นคนของไทยอย่าง One More Thing (OMT) นั้น ร่องรอยของอดีต เช่น คราบของสีน้ำ คราบของความเก่า ผิวสัมผัสของผ้ากระสอบ หรือแม้กระทั่ง รอยยางลบดินสอ ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของงาน ของคุณลักษณ์ คือ โจทย์สำคัญที่เครื่องทอ ของ OMT นั้น พยายามจะเก็บไว้ให้ครบถ้วน และละเอียดที่สุด

และผลลัพธ์ก็คือ ผ้าใหม่ ที่ทอขึ้นมาล้อเลียน ผ้าเก่า ที่รายละเอียดถี่ยิบ ในบริบทของงานศิลปะ ที่แซะ ระบบทุนนิยม บริโภคนิยม — ที่ตัวมันเอง ก็เป็นทั้งสินค้าและงานศิลปะ ที่บริโภคได้ ซื้อได้ ย้อนแย้ง ชวนหัว กวนส้น — สมกับเป็นงาน collab ของ Outsider สองภาคส่วนอย่างแท้จริง

“กลับมาแสดงงานศิลปะ กลับมาทำงานศิลปะ เนี่ยเพื่ออะไร”

ประโยคเรียบง่าย ที่คุณลักษณ์ ใช้เป็นทั้งคำถาม และคำตอบ ในการสื่อสารความคิดของคนนอกอย่างเขา

“เงิน” คือ สิ่งที่คุณลักษณ์ ตอบไว้ในงาน แต่ในทางกลับกัน คำตอบที่ทื่อตรง ขวานผ่าซาก ยียวนของเขา ก็ชวนให้เราคิดว่า มันน่ามีอะไรลุ่มลึกแฝงอยู่ในงาน การ์ตูนหน้าเงิน ทั้งหลายของเขาเป็นแน่แท้

ในยุคที่เต็มไปด้วยเทรนด์ของการต่อคิวทานอาหารร้าน มิชลินสตาร์ — คุณลักษณ์ อาจจะสร้าง Richelin เพื่อเตือนสติเรา หรือเตือนสติตัวเอง ว่าเรากำลังอยู่ในโลก ที่ให้ค่า อะไรและเลือกบริโภคอะไรกันแน่? — มนุษย์เราแพ้เงินหรือไม่? แล้วงานศิลปะล่ะ มีอิสระเหนือแท้ โดยปราศจากการครอบงำของระบบทุนนิยมหรือไม่?

ก่อนจากลา การมาเยี่ยมเยือนสตูดิโอ ของศิลปินคนนอกอย่างคุณลักษณ์ เราสังเกตุเห็น ภาพนกสีขาวดำหลายตัว ที่เย็บต่อกันขึ้นมาจากผ้าเก่าชิ้นเล็กๆ หลายสิบชิ้น — แต่นกทุกตัว ล้วนบิน หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน จนทำให้เราต้องหยุดมอง

แล้วเราก็เหลือบเห็น คำที่น่าจะจงใจ เขียนผิดไว้ บนกรอบไม้เหนือภาพนกเหล่านั้น

I’m fly — Thank You
ฉันบินนะ ขอบคุณ





other story

Outsider art ศิลปินนอกคอกในประวัติศาสตร์ศิลปะ

การประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นงานศิลปะที่น่าหลงใหลที่สุด, การทำเงินเป็นศิลปะและการทำงานเป็นศิลปะและธุรกิจที่รุ่งเรืองก็เป็นงานศิลปะที่ยอดเยี่ยมที่สุด

Explore

Sex & Design

ถ้าเห็นใครทำเป็นรังเกียจเซ็กส์และเห็นว่าเป็นเรื่องต่ำๆ ก็เตือนให้สำเหนียกเอาไว้บ้างก็ดี ว่าทั้งเธอและฉันก็เกิดมาเพราะมันนั่นแหละ

Explore

Shopping cart0
There are no products in the cart!
Continue shopping