Flowers in the Vase
จุดเริ่มต้นเกิดจากที่เอิร์ธเรียนจบเซรามิกโดยตรง ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจดอกไม้ของที่บ้าน บวกกับความชื่นชอบส่วนตัวที่มีต่อดอกไม้และธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก จึงทำแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาที่ชื่อว่า Flowers in the mist เรียกได้ว่าเป็น Floral designer และ Ceramic Maker ก็ว่าได้
หน่อไม้จบจากคณะสถาปัตย์ฯ ถนัด Creative Event Design แรกๆ เข้ามาช่วยเป็นครีเอทีฟกับงานของเอิร์ธ ไม่ว่าจะเป็นการออกงานหรือการทำเซรามิก พอทำมาสักพักก็เริ่มต่อยอดงานไปเรื่อยๆ และก็กระโดดมาเป็น Partner ในการทำแบรนด์และหาจุดที่สนใจร่วมกันอย่างเต็มตัว
Flowers in the vase เกิดขึ้นมาจากตอนสมัยเรียน ได้มีโอกาสไปแสดงงานของตัวเองที่งาน Litter Tree Garden อยากเอางานเซรามิกและดอกไม้ไปขายในงาน แต่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อแบรนด์ ก็เลยคิดว่าถ้าเราจะเอาเซรามิกหรือดอกไม้ไปขายอย่างเดียวมันก็จะดูงงๆ ก็เลยคิดชื่อแบรนด์ใหม่เป็น Flowers in the Vase
การทำงานเป็น Partner
– เราคิดว่าคำว่า Partner เราไม่จำเป็นต้องแบ่งทุกอย่างหรือเป็น Partner กันทุกอย่างก็ได้ –
การทำงานแบบมี Partner มันมีหลายส่วนมากที่จะทำได้ ทั้งสองคนคุยกันเสมอว่า…ถ้าใครอยากทำงานหรืออยากทดลองอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ก็จะให้คนนั้นทำอย่างเต็มที่ เป็นทั้ง Designer และ Artist เลย ส่วนอีกคนก็จะเป็น Assistance ช่วยเป็นลูกมือให้งานจบได้สวย
งานเซรามิกค่อนข้างกว้างมาก ไม่ว่าจะทำงานอะไรจะต้องคุยกันก่อนเสมอว่า Direction ของงานจะเป็นแบบไหน หาตรงกลางให้ได้และทำตามเป้าหมาย เพื่อให้งานมันไม่เบี้ยวไปทางอื่น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเดินเป็นเส้นตรงอย่างเดียว ก็ต้องคุยกันว่าเทคนิคนี้กับงานนี้สามารถเข้ากันได้ไหม และทดลองไปด้วยกัน ด้วยความที่หน่อไม้อาจจะไม่ได้มีความรู้ด้านเซรามิกเท่าไหร่ บางทีอาจจะลองทำด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ที่เอิร์ธก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน แต่นั่นถือว่าเป็นข้อดีที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยกัน และรับฟังกันทั้งสองฝ่าย
สะสมจนได้เรื่อง
– เพราะเราจำไม่ได้ว่าเราทำอะไรไปกับของพวกนี้บ้าง มันก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมของแต่ละชิ้นมีเรื่องราว –
งานเซรามิก มีหลาย Stage มาก อย่างช่วงแรกที่เป็นดินก่อนเผา อันที่พังหรือร้าวตั้งแต่แรก ก็สามารถทุบแลัวเอาไปละลายน้ำ นำเอากลับมาใช้ใหม่ได้ คิดว่าทุก Studio น่าจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด
ส่วนอันที่เผามาแล้วรอบที่ 1 แล้วพัง ก็จะทุบและย่อยให้เป็นผงเล็กๆ อาจจะเอามาผสมกับดินเปล่าๆ เพื่อเพิ่ม Texture ให้กับงาน หรือมาผสมในดิน ให้ดินสามารถเกาะตัวกันแข็งแรงมากขึ้น เพื่อให้ทำงานชิ้นใหญ่ขึ้นได้ แต่ถ้าเซรามิกที่เผาแล้ว เคลือบแล้ว แล้วมาพังในขั้นตอนนี้ ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ใช้ไม่ได้แล้วจริงๆ แต่ก็เอามาทำเป็น Decoration Part เก็บงานบางส่วนไว้เผื่อทำอะไรได้ในอนาคต
“ส่วนที่ชอบที่สุดคือ การที่ดินเหลือ เหลือตั้งแต่เริ่มผสมดินเพื่อจะปั้นงาน เราจะชอบเก็บดินพวกนี้เอาไว้ เพราะเสียดาย*หัวเราะ”
เพราะเทคนิค Nerikomi มันไม่ใช่การปั้นดินแล้วมาทาสี แต่มันคือการผสมสีเข้าไปในดิน เพราะฉะนั้นกว่าจะได้ดินสีนี้ หรือลายนี้ออกมา มันผ่านหลายขั้นตอนมาก ทั้งคู่ก็จะเก็บดินพวกนี้เอาไว้ พอถึงเวลาจะใช้ก็จะเอาสีพวกนั้นมาทดลองเอามาทำลายใหม่ สร้างงานใหม่ๆ ซึ่งพอมันออกมามันจะได้แค่ชิ้นเดียว
บางคนเข้ามา Studio แล้วก็ขอซื้อของที่ทดลองหรือของที่มันพังแล้ว ทั้งๆ ที่มันแตกแล้ว เพราะเขาบอกว่ามันสวย ขอซื้อได้ไหม ก็งงเหมือนกันว่าจะเอาไปทำอะไร
ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเอาท้องฟ้ามาเป็นงานได้
งานทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับบริบทรอบตัว ไปอยู่ที่ไหน สถานที่นั้นมีอะไรรอบตัวเราบ้าง ส่วนใหญ่จะได้จากธรรมชาติ หรือสิ่งที่เราสังเกต เวลามองแล้วมันผ่อนคลายจิตใจ อย่างเช่นท้องฟ้า ช่วยปลอบประโลมจิตใจได้ดีมาก มันก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ
เวลาจะทำงานแต่ละชิ้น มันเริ่มมาจากความรู้สึก มันจะเป็นความรู้สึก Abstract และคิดว่า “สีแบบนี้แหละมันน่าจะมาอยู่บนงานของเรา” แต่มันไม่ใช่การ Copy – Paste นะ เพราะทำยังไงก็ไม่เหมือน แค่ว่าพยายามจะ Keep Feeling นั้นในงาน
“เราไม่เคยถ่ายรูปแล้วมาตั้งไว้บนโต๊ะและผสมสีให้เหมือนกับรูปถ่าย เรามาคุยกันและทดลองสีกันเอง ลุ้นตอนเผาทีเดียวว่ามันจะออกมาเป็นยังไง แล้วค่อยพัฒนาต่อออกมาเป็น Collection ไม่ได้มีภาพในหัวว่าจะทำงานแบบไหน มันขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกยังไงมากกว่า มันก็เลยเป็น Mood ที่อยากให้เกิดขึ้นกับงานเราจริงๆ ”
Q : งานดู Moody มาก แล้ว…“เคยทำงานตอนโกรธไหม ?”
A : 555555 เราว่าตอนโกรธทำเซรามิกไม่ได้นะ เพรามันต้องใช้สมาธิตอนขึ้นรูป มันไม่โอเค
“แต่ว่าไป จริงๆ ก็เคยทำงานตอนโกรธนะ แต่อาจจะต้องเป็นรูปแบบอื่นไปเลย แต่มันไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ ตอนทำงานตอนเราโกรธงานมันจะไม่ Completed มันจะเสียหายใช่ย่อยเลย สุดท้ายมันต้องโฟกัสงานมากๆ ต้องใจเย็นๆ ถ้าอารมณ์ไม่นิ่งจริงๆ ก็ทำงานไม่ได้ ”
– แต่ถ้าเราเก็บอารมณ์ตอนโกรธแล้วมาทำงาน…อันนี้ทำได้ –
ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
“เราชอบทุกช่วงเวลาของธรรมชาติ เพราะทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างเดียวกัน แต่มันไม่เคยซ้ำกันเลย จริงๆ แล้ว Flowers in the vase มันคือปรากฏการณ์อะไรบางอย่างที่สามารถเป็นได้ทุกอย่าง เพราะปรากฏการณ์มันเกิดขึ้นครั้งเดียว อย่างสายรุ้ง ฝนตก แม่คะนิ้ง หรืออะไรก็ตามแต่ มันไม่มีทางที่จะซ้ำกันได้ เราคิดว่ามันก็เหมือนเซรามิกด้วย เราคาดเดาไม่ได้ และมันก็ออกมาเป็นธรรมชาติของมัน”
เพราะงานที่ทั้งคู่ทำไม่ได้มีแค่ท้องฟ้าหรือธรรมชาติ แต่ทั้งคู่ตั้งคำถามกับงานและปล่อยให้คนตีความผ่าน Visual กันเอง ได้จินตนาการออกไป อาจจะเปรียบเป็นปรากฏการณ์ใดหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับว่ามันคือธรรมชาติอะไรที่คุณอยากจะเป็นมากกว่า
ด้วยความที่เทคนิคที่ Nerikomi มันคือธรรมชาติอย่างหนึ่ง เพราะตอนทำงานเราไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้เลย เราคาดเดาไม่ได้ว่าชั้นสี ลวดลายจะออกมายังไง มันคือเสน่ห์อย่างหนึ่ง และยังอยากเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ในงาน โดยเอาดินเหลือหรืออะไรก็แล้วแต่มาสร้างเป็นปรากฏการณ์สำหรับการทำเซรามิก
แต่ถ้าที่อินอยู่ตอนนี้ คิดว่าเป็น Twilight Arc ที่เป็น Earth Shadow มันจะมีแสงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและหลังจากพระอาทิตย์ตก เป็นการไล่สีท้องฟ้าที่สวยมาก เป็นเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน แต่คนไม่ค่อยสังเกต เปรียบเหมือนความธรรมดาที่อยู่ทุกวัน แค่เราไม่ได้สนใจมัน นั่นก็อาจจะตรงกับความเป็น Flowers in the vase ก็เป็นได้
ไม่ใช่ว่าจะไม่มีตรงกลาง
– สำหรับเรา เราว่ามันไม่มีตรงกลาง มันอยู่ที่ว่าเราจะเอาตัวเองไปอยู่ใน Process ไหน หรือจุดไหนของงานมากกว่า –
การทำงานเซรามิก มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำงานแบบไหน จะหยิบจับอะไรมาทำงาน บอกไม่ได้ว่ามันมีตรงกลางหรือเปล่า ถ้าเราอยู่ริมเส้น แต่สิ่งที่เราสนใจอยู่ตรงกลาง มันคือการฝืนธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับแต่จะโจทย์ว่าเราจะทำอะไร มันไม่เหมือนการทำอาหารที่ห้ามไหม้ เพราะมันจะไม่อร่อย ซึ่งเราก็สามารถอยู่ตรงริมได้เหมือนกัน แค่ว่าเราจะเอนตัวเองไปตรงนู้นตรงนี้มากเท่าไหร่แค่นั้นเอง
ทั้งคู่เคยคุยกันว่าอยากทำ Project ที่เอาแร่ธาตุแต่ละจังหวัด เอาดินแต่ละที่มาทำงานเหมือนกัน แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศของบ้านเรา ดินแต่ละอย่างมันไม่ใช่ดินที่จะสามารถเอามาปั้นได้หมด และก็มีกระบวนการที่จะต้องทำดินให้พร้อมใช้ค่อนข้างยาก แต่มันยังเป็นสิ่งที่ทั้งคู่สนใจและอยากทำในต่อไป
เสน่ห์ของ Nerikomi
มันเป็นเรื่องของการสร้างลวดลาย การสร้างสี การสร้าง Pattern จากการที่เราไม่ได้บังคับธรรมชาติ หรืออาจจะบังคับก็ได้ Flowers in the vase ไม่ได้เพ้นท์ แต่ทำให้มันเกิดลวดลายขึ้นจากสีของดิน การบีบอัดของดินสี
ตอนนี้ทั้งคู่ก็ยังสนุกอยู่กับเทคนิค Nerikomi นี้ และยังใช้ไม่กี่วิธีในการสื่อสารมันออกมา เนื่องจากการทำค่อยข้างยากและใช้เวลานาน หลายขั้นตอนมากและมีโอกาสที่จะเสียหายเยอะ ข้อจำกัดของการทำงานนี้คือถ้าความชื้นไม่เท่ากันมันก็จะเสียหาย มันยากมากกว่าการใช้ดินชิ้นเดียวมาปั้นเลย
และเทคนิคนี้ไม่ได้มาจากญี่ปุ่นขนาดนั้น เป็นเพียงแค่ยุคหนึ่งที่ญี่ปุ่นเขาใช้กันเยอะ อย่างฝั่งอังกฤษ ยุโรป จีน เขาก็ใช้กัน แต่ภาษาหรือชื่อเรียกอาจจะไม่เหมือนกัน มันก็คือการเอาดินมาซ้อนกัน แต่ของญี่ปุ่นเขาอาจจะมีความละเอียดมากกว่าในเทคนิคนั้น เป็นลวดลายของเขา ที่แต่ละเมืองจะไม่เหมือนกัน
งานของญี่ปุ่นมันจะมีความ Traditional เหมือนบ้านเราจะมีงานสานที่มีลวดลายเฉพาะถิ่น ส่วนญี่ปุ่นเขาก็จะมี Pattern การสร้างลวดลายที่เป็นของเขา เป็นลายที่เท่ากัน แต่ที่เราทำก็หลักการเดียวกัน แต่เป็นการสร้างลวดลายใหม่เท่านั้นเอง
Q : ถ้าไม่ใช้ Nerikomi จะใช้เทคนิคอะไร?
A : มันเยอะมาก ตอนนี้ก็ยัง Love เทคนิค Nerikomi อยู่นะ
แต่ด้วยความที่ Flowers in the vase มีโปรเจคที่ทำงานเกี่ยวกับงานหล่อเยอะขึ้น แต่งานที่ทำอยู่ตอนนี้มันคืองาน Piece by piece เมื่อความต้องการสูงแต่กำลังเราไม่พอก็ต้องมีตัวช่วย
“เรายังใช้วิธีแบบเดิมแต่ทำขึ้นมาในงานหล่อ เราจะมีวิธีการไหนได้อีกบ้างที่เราจะสามารถทำแนวคิดนี้ หรือสื่อสารสิ่งที่เราอยากจะบอกผ่านงานที่ได้จำนวนเยอะขึ้น ก็คงจะต้องเป็นเรื่องการหล่อพิมพ์ อาจจะเอาดินสีมาเล่นได้ในการหล่องานผ่านแม่พิมพ์ เพราะมันก็จะมีเทคนิคของมัน การกลิ้งน้ำดิน การหยดสี หรืออะไรหลายอย่าง เราก็ต้องทดลองต่อไป”
ไม่ได้อยู่ในขอบเขตใดขอบเขตหนึ่ง
Flowers in the vase ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนทำงาน Craft เลยแม้แต่น้อย ทั้งคู่พยายามบอกคนอื่นอยู่เสมอว่า Flowers in the vase ไม่ได้อยู่ในขอบเขตใดขอบเขตหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงาน Craft, Product หรืองาน Art เพราะว่ามันสามารถอยู่ได้ในทุกๆ แบบ ขึ้นอยู่กับ Project ว่าจะเล่าหรือทำมันออกมาในแบบไหน
– มันอยู่ที่เราสนใจว่าอยากจะทำงานออกไปและสื่อสารออกไปในรูปแบบไหนมากกว่า บางทีอาจจะเล่าทั้งสามอย่างเลยได้ไหม*หัวเราะ –
Flowers in the vase อยากจะอธิบาย Value ให้คนได้ฟังว่าทำไมชิ้นนี้มันถึงเป็นแบบนี้ ราคามันถึงแพงขนาดนี้ จะไม่ค่อยเคลมว่าเราเป็นงาน Craft เรามีหน้าที่จะอธิบายเทคนิคของการทำงาน เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการและขั้นตอน มันแตกต่างจากเซรามิกอื่นอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเราเพ้นท์หรือทำสี
ไม่ได้อินดี้ แค่อยากจะบอก
– คนจะถามว่ามีของไหม…เราก็อยากขายนะ แต่มันไม่มีของ *หัวเราะ –
ด้วยความที่มองว่า Flowers in the vase ไม่มีขอบเขต มันเลยกลายเป็นว่าบางอย่างเราจำเป็นต้องเลือก เซรามิกของทั้งคู่ คือ สนามเด็กเล่น มันคืองานอดิเรก ทั้งคู่ไม่ได้ทำมันเป็นอาชีพใช้เลี้ยงชีพแบบ 100% เพราะทั้งสองคนก็มีอย่างอื่นที่ต้องรับผิดชอบ ก็เลยต้องแบ่งเวลามาทำตรงนี้ และด้วยความที่งานทำยาก กว่าจะได้และชิ้นเราค่อนข้างปรานีต เพราะอยากให้งานมีความหมาย มันเลยต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกอย่าง ก็ต้องคุยกันว่าถ้าคุณสนใจก็ต้องรอออกเป็น Collection เพราะส่วนใหญ่คนไม่เข้าใจกระบวนการทำงานของเรา
เพราะที่ผ่านมา ทั้งสองคนเคยเอางานไปวางที่บางงาน แล้วเหมือนไม่ได้เจอผู้ซื้อที่ถูกจริตกับงาน ซึ่งมันก็เปล่าประโยชน์ ของมันต้องวางให้ถูกจุดและคุยในภาษาเดียวกันกับผู้ซื้อ แล้วมันทำให้ Value ของงานเรามันถูกตีค่าไปคนละแบบ
ที่ผ่านมาทั้งสองคน ตั้งใจทำ Flowers in the vase มาก เพราะอยากเพิ่ม Value ของแต่ละชิ้น การที่จะปล่อยของแต่ละอย่างออกไป ไม่เคยคิดว่าจะทำๆๆ ขายๆๆ เพราะของแต่ละชิ้นมันควรจะต้องประกอบรวมกันเป็นเรื่องราวที่น่าจดจำ
ห้องทดลอง
“มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เรามองว่า Flowers in the vase มันยังไม่ใช่แบรนด์ที่แท้จริง แต่เป็นเหมือนห้องทดลอง เราเปรียบว่าเป็นศิลปินคนหนึ่ง เป็นคนคนหนึ่งที่ประกอบไปด้วยหลายๆ อย่าง แต่เพียงว่าเวลาเราเข้าไปขายในห้าง เราเลยต้องแต่งตัวเป็นแบรนด์ ซึ่งไปอยู่ที่อื่นเราก็อาจจะต้องแต่งตัวอีกแบบหนึ่ง”
ทั้งเอิร์ธและหน่อไม้ คิดเสมอว่าการทำธุรกิจต้องพยายามคิดในหลายๆ เรื่อง มันค่อนข้างที่จะโหดเหมือนกัน แต่แค่ต้องหาเงื่อนไขที่เหมาะสมกับเราและเขารับฟังและคุยภาษาเดียวกับเราได้ มีหลายๆ ที่ชวนไปงานขายเหมือนกัน แต่บางครั้งรู้สึกว่าการแต่งตัวแบบนั้น มันไม่ใช่ที่ของเรา มันต้องถูกที่ถูกเวลา
“เราต้องขอโทษผู้บริโภคด้วยเหมือนกัน ถ้าในฐานะที่ผู้บริโภคมองเราเป็นแบรนด์ เพราะเรายังไม่มืออาชีพขนานนั้น หรือเรื่องของการสื่อสารมันยังไม่ดีพอ นี่อาจจะเป็นจุดบกพร่องหนึ่งที่เราต้องพัฒนา แต่ถ้าในอนาคตเราอาจจะสนใจตลาดของการทำแบรนด์ หรือว่าเข้าไปอยู่ใน Process ในการขายมากกว่านี้ “
The Continuum
มันเป็นจังหวะที่ดีมากกว่าที่ทาง The Continuum ชวนมาทำอะไรสนุกด้วยกัน มันเหมือนการเปิดหน้าบ้านใหม่ เปิดให้เราไปเจอโลกอื่นๆ มากขึ้น เพราะ The Continuum ไม่ใช่แค่ Selected Shop ทั่วๆ ไป เพราะที่นี่ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่อง ซึ่งตอบโจทย์กับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มากๆ ไม่ใช่แค่ฟังก์ชั่นหรือแค่ขายของอย่างเดียว
เพราะทั้ง The Continuum และ Flowers in the vase มันมีลูกบ้าอะไรบางอย่างที่ถูกจริตกัน และเรารู้สึกว่าเราสนุกกับมัน และด้วยความที่เรากำลังทำ Project นี้พอดี กับรูปแบบและคาแรคเตอร์ของแพลทฟอร์มมันน่าสนุก เราก็เลยอยากเข้าร่วม
– ส่วนใหญ่เวลาคนอื่นที่เขามาชวนเรา เราก็ต้องศึกษาเหมือนกัน มันเหมือนกับการเป็นศิลปินแล้วเราอยากมีส่วนร่วมในแพลทฟอร์มนี้ เหมือนเป็นอีก Stage หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะยังไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าขนาดนั้น –
Exclusive items
Collection นี้เป็นของที่มาจากเศษเหลือที่สะสมมาหลาย Project ที่เล่าไป ซึ่งดินที่เก็บไว้มักจะไม่เห็นสี ถึงแม้ว่าจะผสมสีไปแล้วมันก็มองไม่เห็นสีอยู่ดี และโปรเจคนี้ Flowers in the vase ให้ชื่อว่า Nature Scape
Collection นี้จะพูดถึงเรื่องธรรมชาติของการทำงานและธรรมชาติของวัสดุ จะเรียกว่ามันเป็นการทดลองก็ได้ เพราะทั้งคู่เอาของที่สะสมมาตลอด ใช้เวลาทำงาน Collection นี้ประมาณ 6-8 เดือน เอามาเล่าเรื่องใหม่ เรียงลวดลายใหม่ทั้งหมดในช่วงโควิด ก็จะเห็นความหลากหลายในดีเทลต่างๆ และการคอลลาจของสีในงานนี้
“บางชิ้นที่ออกมาจะ Relate กับเส้นขอบฟ้าที่ตัดกับพื้นดิน หรือชิ้นหินที่มีเม็ดพลอย หรือเป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเป็นสีเหลืองและมีเส้นขอบฟ้าตัดด้วยสีขาว อะไรพวกนี้ที่จะเห็นในงานนี้ และเป็นงานที่พวกเราตั้งใจปั้นกันมาก ซึ่งเราอยากให้งานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Decoration ของบ้านคุณ เพราะสามารถวางในบ้านที่เป็นสไตล์ไหนก็ได้ ความหมายของชิ้นงานหรือความรู้สึกมันก็จะต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละอย่างก็มีชิ้นเดียว”
Q : ถ้าแจกันไม่ได้เสียบดอกไม้ แล้วแจกันจะเสียบอะไร?
A : เราขอตอบคำถามด้วยคำถามว่า “ถ้าดอกไม้ไม่ได้เสียบในแจกัน แล้วดอกไม้จะเสียบในอะไร ?”
“นั่นแหละคือคำตอบของเรา เพราะว่าถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ งานเรามันจะเป็นได้แค่แจกัน แต่ถ้าเรามองว่าเราเป็นดอกไม้ เราจะถามตัวเองว่าเราจะเอาตัวเองไปอยู่ที่ไหน? ”
ตอนที่ทำ Flowers in the vase ทั้งเอิร์ธและหน่อไม้เคยคุยกันไว้ว่า Vase มันไม่ใช่แค่แจกัน แต่มันคือความว่างเปล่า มันคือภาชนะหรืออะไรก็ได้ ไม่ได้จำกัดว่าเราจะทำแจกันอย่างเดียว เช่นเดียวกัน…มันไม่จำเป็นว่าดอกไม้มันจะต้องเสียบในแจกันเสมอไป ดอกไม้อาจจะเสียบใน Art Piece ดอกไม้เสียบในแก้ว จาน ชาม หรือแม้กระทั่งก้อนหิน ก็ทำได้
Flowers in the Future
– เรารู้ว่าที่เราทำทุกวันนี้มันพึ่งเริ่มต้น เราไม่ได้มองว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เราเหมือนเจอคนที่เข้าใจสิ่งที่เราพูด เรากำลังเดินทางมากกว่า และเราไม่ได้คาดคิดด้วยว่าเราจะเป็นแบบไหน มันอยู่ที่ว่าเราเจออะไรระหว่างนี้มากกว่า –
Flowers in the vase เจอคนที่เข้าใจในสิ่งที่พูดหรือทำ มันไม่ได้หมายความว่ามันประสบความสำเร็จ แต่เหมือนทั้งคู่ได้เจอเพื่อน แต่ในอนาคตไม่ได้หมายความว่าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ไปจนตลอด หรือว่าทำแค่นี้ไปเรื่อยๆ เพราะเราพึ่งเริ่มต้นเดินทาง
“ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาที่ Flowers in the vase เราพึ่งมามี Studio ปีที่ 2 แล้วน้ำก็รั่วไปตั้ง 1 ปี*หัวเราะ เราก็เหมือนประกอบร่าง เราได้เอางานไปวางในที่ต่างๆ มันทำให้เราได้เจอและได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย มันทำให้เราไม่ได้คาดหวังที่ยิ่งใหญ่ ตอนนี้ก็ Enjoy มากๆ ไม่อยากตีกรอบว่าอยากจะเป็นอะไร เพราะถ้าถึงทางตันมันก็จะไม่สนุกแล้ว “
จะไม่ใช่แค่ความฝัน
มีครั้งหนึ่งเคยไปที่ New York บังเอิญตรงกับงานของศิลปินเซรามิกท่านหนึ่งที่ดังมาก เปิดเป็น Open Studio ที่เปิดให้ชมงานและซื้อของได้ภายในเวลาจำกัด รู้สึกว่ามัน Rare มาก มีโอกาสได้ไปดูของและไปดูศิลปิน ซึ่งคนเยอะมาก รู้สึกว่าถ้าเป็นความฝันเล็กๆ ทั้งคู่ก็อยากทำ Open Studio ที่วางของ Flowers in the vase อาจจะเปิดขายขายและให้คนมาดูของใน Space นี้
– เราไม่ได้คาดหวังให้คนมาต่อแถวยาวเหมือนซื้อ IPhone ขนาดนั้นนะ แต่แค่อยากให้คนมาคุยและมาดูของจริงๆ ของเรา แต่ถ้าจะทำแบบนั้นได้ เราต้องมีของก่อน*หัวเราะ ซึ่งไม่เคยมีของเลย ตอนนี้ก็ยังไม่มีอยู่ดี –
Q : ไม่ยอมขายของง่ายๆ แบบนี้ คิดว่ามีวิญญาณในงานของเราไหม?
A : 555555 ของบางชิ้นเราทำของออกมา เราก็ไม่อยากขาย เพราะเราหวง
“เพราะว่าเราปั้นเขามา เราตั้งใจทำมากๆ เราก็อยากเก็บรักษาเขาไว้ เรารู้สึกว่าเราผูกพัน รู้สึกว่านั่นคือลูกของเรา เวลาคนซื้อของเราไป เราก็อยากซื้อกลับมา เพราะเราหวง ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน
แต่อีกมุมหนึ่งที่เราเริ่มขายและมีคนเอาสินค้าของเราไป สิ่งที่เราชอบมากๆ คือเวลาที่เห็นเขาใช้ของเราและ Tag มาหา เราดีใจมาก เหมือนเราเห็นงานเราได้ไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ”